
แนะนำน้องใหม่เริ่มเดินป่า
ทุกวันนี้มีป่าไม้ธรรมชาติที่งดงามรอเราอยู่หลายแห่งครับ ใครที่เกิดมายังไม่เคย เดินป่า ออกลุยเลยคงต้องเริ่มต้น จากการเดินทางง่าย ๆ และมีคนแนะนำให้ก่อนนะครับ เท่าที่ผมเคยไปมาคนที่เดินครั้งแรกบ่นแล้วบ่นอีกว่าเหนื่อย ว่าร้อน ยังโง้นยังงี้ แต่ก็กลับไปเที่ยวใหม่ทุกคนล่ะครับ เพราะการท่องเที่ยว เดินป่า นี่มีเสน่ห์ตรงที่ความลำบาก และท้าทายนี่แหละ การ เดินป่า ไม่ใช่การเดินดุ่ม ๆ เข้าไปในป่าโดยไม่เตรียมอะไรไว้เลยนะครับ ซึ่งอันตรายมาก แล้วก็การเดินโดยไม่มีคนนำทางก็อันตรายพอๆ กัน จะพากันไปหลงให้เค้าต้องเอา ฮ. ตามกันเปล่า ๆ
การเตรียมตัวไปแคมปิ้ง
หลายๆท่านที่อยู่อาศัยในตัวเมือง หรือศูนย์การค้าเป็นหลักที่คิดจะเริ่มลองออกไปแสวงหาธรรมชาติพิสุทธิ์และงดงาม ต้องหัดเตรียมตัวกันนิดนึงก่อน โดยทั่ว ๆ ไปวิธีที่ง่ายสุดคือไปกับคนที่รู้ไม่งั้นก็ไปกินอยู่กันลำบากแน่ แบบไม่สนุกเพราะขาดการเตรียมตัวที่ดีนั่นเอง จนอีกหน่อยเที่ยวไป ๆ ของในเป้คุณจะน้อยลงไปเองโดยอัตโนมัติและความลำบากเล็ก ๆ น้อย ๆ จะกลับกลายเป็นเรื่องสนุกไป มือใหม่อย่างเราควรเตรียมตัวให้พร้อมก่อนเพราะเรายังไม่รู้ความต้องการใช้สิ่งของที่แท้จริง ในป่า ซึ่งแต่ละคนมีไม่เท่ากัน
การหาข้อมูลก็เป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก ...ต้องเลือกจุดหมายปลายทางที่จะไปเสียก่อน ที่เที่ยวอย่าง เขาใหญ่ แก่งกระจาน ปัจจุบันก็หนาแน่นไปด้วยผู้คนและร้านค้าจนแทบไม่ต้องเตรียมอะไรแล้วครับ แต่ถ้าเริ่มต้นเดินป่า ค้างแรมที่ ๆ แปลกออกไปสักนิด (แน่นอนว่าบรรยากาศย่อม "สด" กว่าฮะ เลือกให้ตรงใจว่าจะไปที่ไหนแน่ ดูให้ตรงกับฤดูกาลด้วย เช่นไปน้ำตกที่มีโอกาสเจอน้ำป่าหรืออุทกภัยช่วง เดือนตุลาคมก็คงไม่ปลอดภัย ก็เลี่ยงไปเปนการเดินทุ่งดอกไม้หรือไปทางอีสานซึ่งสวยสุดหน้าเดียวคือหน้าฝนซะเลย อย่างนี้เป็นต้น แหล่งข้อมูลทางหนังสือที่มีก็ทั้งอนุสาร อสท. หนังสือทริป แหล่งท่องเที่ยว ATG สารคดี Update แหล่งข้อมูลทางอินเตอร์เนท
จากนั้นก็เป็นการวางแผน..... อย่างที่กล่าวไว้ตอนต้น เดินเข้าป่าดุ่ม ๆ ไปนี่ก็คงจะมีแต่ชาวบ้านกะพรานที่อยู่แถวนั้นที่เขาทำกัน เราต้องวางแผนก่อนว่าจะไปกันยังไงดี บางที่ขืนตะบึงตะบันขับรถไปเอง แต่เจอทางยากเดินเหนื่อย ขาขับรถกลับ จะอันตรายเปล่า ๆ รึจะลองไปรถหวานเย็นดู ไม่ก็ลองนั่งรถไฟหรือโบกรถกันซะเลย นอกจากนี้ก็ต้องรู้ว่าจะไปกันกี่วัน บางคนไปยอดเขาแห่งหนึ่ง ยังเผื่อไว้ 9 วันครับ เดินจริงไม่ถึงหรอก แต่ต้องเผื่อหลงไว้ เพราะเป็นเส้นที่ไม่มีใครเคยเดิน สักกี่คน มือใหม่คงเอาแค่หอมปากหอมคอ ถ้าไปได้ในวันธรรมดาก็จะดีมาก เพราะคนไม่เยอะครับแต่ถ้าทำไม่ได้ก็หลีกเลี่ยงเทศกาล ที่มีผู้คนมากมายเหลือเกิน อาจทำให้ท่านเสียความรู้สึกซะเปล่า ๆ
เมื่อวางแผนเรียบร้อย และได้เดินทางไปจนถึงที่เริ่มเดินเท้าแล้ว เราจะต้องตรวจดูความเรียบร้อยของเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์ทุกชิ้นก่อนว่าอยู่ครบถ้วนหรือไม่ โดยปกติแล้วเมื่อเก็บข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ลงในเป้หลังแล้ว จะพบว่าข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ จะมีที่ที่เหมาะสมของมันอยู่แล้วตามช่องเป้หลังต่าง ๆ เมื่อท่านเริ่มเดินป่าไปหลาย ๆ ครั้ง ทุกอย่างก็จะเข้าที่ไปโดยอัตโนมัติ แต่ช่วงแรกควรถามผู้ที่เคยมีประสบการณ์มาก่อน จะทำให้เราได้รับความรู้และประโยชน์มากที่สุด ก่อนจะเริ่มเดินทางสัก 30 นาที ขอให้ดื่มน้ำให้อิ่มและเติมน้ำในกระติกให้เต็ม เพราะน้ำเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่เราต้องเก็บไว้ใช้ และขอแนะนำว่าให้นำอาหารแห้ง เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องและข้าวสารใสไปในสัมภาระส่วนตัวของคุณสัก 1 ชุดไว้ก่อนเสมอ ในกรณีที่มีคนหาบสัมภาระให้ แต่ถ้าหากไม่มีคนหาบก็ขอให้แบ่งอาหารกระจายไปในกลุ่มโดยทั่วถึงกันเป็นชุด ๆ เผื่อว่าในกรณีที่พลัดหลงกันจะได้มีอาหารรับประทานกันทุกคน และอีกอย่างหนึ่งที่จะละเลยกันไม่ได้ก็คือ การศึกษาเส้นทางที่เราจะเดินทางไป เพราะในบางครั้งอาจมีลำธารมาขวางกั้น หรืออาจมีป่าทึบมากจนไม่สามารถ ผ่านไปได้ ทำให้เราต้องเปลี่ยนทิศทางในการเดิน หรือถ้าคุณต้องการเดินทางไปให้ถึงหมู่บ้านของชาวบ้านท้องถิ่นให้เดินเลาะลำธารและแม่น้ำ เพราะชาวบ้านมักจะอาศัยอยู่ตามริมแม่น้ำชุมทางแม่น้ำทุกแห่ง มักจะเป็นเส้นทางการคมนาคม และประกอบการค้าของชาวบ้านเสมอ เพื่อเป็นการเตรียมตัวในการผจญภัยให้เต็มที่ จึงควรตรวจดูแผนที่และทิศทางก่อนที่จะเริ่มออกเดินทางด้วย
เมื่อทุกอย่างได้เตรียมพร้อมสำหรับการเดินทางแล้ว เราก็เริ่มออกเดินทางกันได้เลย ในการเดินทางนั้นควรจะเดินไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง แต่ไม่ได้หมายความว่า เราจะต้องเดินทางเป็นเส้นตรงเลยทีเดียว เมื่อพบว่าจะมีสิ่งกีดขวาง ก็ให้พยายามใช้วิธีหลีกเลี่ยงเพื่อเป็นการออมกำลังไว้ จึงไม่ควรใช้กำลังฝ่าอุปสรรคนั้นเข้าไปโดยไม่จำเป็น เช่น เดินหลบเลี่ยงไปสักหน่อยดีกว่าที่เราจะต้องใช้กำลังบุกฝ่าป่าที่รกทึบเข้าไป เพียงเพราะมองเห็นแค่ระยะทางสั้นกว่า และในการเดินป่าไม่ควรเดินอย่างรีบร้อน แต่ควรเดินพิจารณาไปอย่างช้า ๆ และมองดูสิ่งต่าง ๆ รอบ ๆ ตัวอย่างรอบคอบ เพื่อป้องกันสัตว์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ตามทางเดิน ตลอดเวลาของการเดินทางต้องใช้ความระมัดระวังให้เป็นพิเศษ อย่าเดินด้วยความซุ่มซ่าม เพราะจะทำให้เกิดการฟกฟ้ำดำเขียวหรือบาดแผลขึ้นกับตัวเราได้ อีกทั้งยังต้องฝึกตัวเองให้เป็นคนที่มีสายตาว่องไว และคุ้นเคยกับสภาพของป่า นั่นคือการหัดสังเกตสิ่งที่กีดขวางให้ดีเสียก่อน ซึ่งการใช้สายตาในการสังเกตจะใช้ 2 ลักษณะคือ
1. ใช้สายตามองแบบกว้าง ๆ เมื่อตอนแรกที่เรามองป่า ก็มองสภาพทั่ว ๆ ไปของป่า ก้มมองสภาพทั่ว ๆ ไปของป่า กวาดสายตาไปอย่างรวดเร็วให้ทั่วบริเวณนั้น เก็บสภาพทั่ว ๆ ไปของบริเวณนั้นเอาไว้ก่อน เช่น ลักษณะของป่า ลักษณะของกลุ่มไม้ แนวเส้นทาง ฯลฯ
2. ใช้สายตามองเฉพาะจุด เมื่อเรามองสภาพทั่ว ๆ ไป ของป่าแล้ว จากนั้นให้มองพิจารณาจุดเด่น ๆ ที่น่าสนใจ เช่น ต้นไม้มีขนาดใหญ่หรือมีสีสันที่แปลกออกไปจากต้นอื่น ๆ ที่สังเกตและจำได้ง่าย นักเดินป่าที่ดีไม่ควรใช้เสียงในการเดินทาง หากจำเป็นก็ขอให้เสียงที่ใช้นั้นเบาที่สุดและน้อยครั้งที่สุด ใช้ประสาททั้งหมดจดจ่ออยู่กับธรรมชาติให้มากที่สุด ทั้งประสาทตา ประสาทหูและประสาทจมูก ควรทำการตรวจสอบทิศทางในการเดินทางอยู่เสมอ คือควรจะรู้ว่าตัวเราและคณะกำลังมุ่งไปทิศทางใดบ้าง เช่น มุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกบางครั้งก็หักเหไปทางตะวันออกเฉียงเหนือบ้างเล็กน้อย พอหยุดพักก็หมั่นตรวจสอบกับแผนที่ จะทำให้เราสามารถคาดคะเนได้ว่า เราอยู่ตรงจุดใดของพื้นที่ ซึ่งจะทำให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างเด็ดขาดและถูกต้องที่สุด เมื่อต้องเผชิญกับเหตุการณ์ ที่เราคาดไม่ถึง
เมื่อการเดินทางของเราจะต้องเดินตามลำห้วย จะต้องใช้ความระมัดระวังให้ดี ขอแนะนำว่าห้ามถอดรองเท้าเดินในลำห้วยเพราะอาจจะทำให้เท้าบาดเจ็บ ซึ่งจะทำให้กลายมาเป็นอุปสรรคในการเดินป่า จึงควรยอมให้รองเท้าเปียกจะดีกว่า เนื่องจากในลำน้ำอาจมีหอยที่เปลือกบางแตกบาดเราได้ แม้ว่าจะช่วยทรงตัวได้ดีกว่าบ้างก็ตาม ในขณะเดินป่าควรป้องกันอันตรายจากแมลงต่าง ๆ โดยการสวมเสื้ออยู่ตลอดเวลา อย่าถลกแขนเสื้อขึ้นถ้าไม่ได้อยู่ในที่โล่งแจ้งที่มีอากาศโปร่งสบาย จงพยายามปกปิดทุกส่วนของร่างกาย ในการเดินป่าถ้าพบกิ่งไม้ที่เป็นราหรือหญ้าเขียว ที่เป็นฝอยที่เกิดขึ้นทั่วไป ควรจะเดินหลีกเลี่ยงเพราะหากว่าเราเดินเหยียบอาจจะทำให้ลื่น จนถึงขั้นหกล้มได้ ในกรณีที่เกิดการพลัดหลงกันอย่าได้ตะโกนเรียกหากันโดยเด็ดขาด เพราะจะทำให้เหนื่อยเปล่า อีกประการหนึ่งก็คือการกู่เรียกโดยไม่รู้ถึงวิธีการ ที่ถูกต้องนั้นจะยิ่งทำให้ยิ่งหลงทิศหนักเข้าไปอีก ควรจะใช้วิธีการเคาะหรือตีต้นไม้สูง ๆ ด้วยท่อนไม้ เพราะจะทำให้เกิดเสียงได้ยินก้องไปไกลกว่าเสียงก้องตะโกน ในเวลากลางคืนสัตว์ป่าทั้งหลายจะเดินตามลำห้วยและตามสันเขา ดังนั้นเราควรจะอยู่ให้ห่างจากบริเวณดังกล่าว หากจะเดินทางออกไปจากที่พักและมีความต้องการที่จะเดินกลับเข้ามาอีกในภายหลังควรจะต้องทำเครื่องหมายไว้ตามทางที่เดินไปให้เห็นอย่างชัดเจนเพื่อที่จะสามารถกลับที่พักได้อย่างถูกต้องและไม่พลัดหลง ในการเดินทางข้ามลำห้วยคนที่ว่ายน้ำไม่เป็น ควรเดินข้ามคู่ไปกับคนที่ว่ายน้ำเป็น เพื่อที่จะได้ช่วยดูแลช่วยเหลือกันได้ เพราะคนที่ว่ายน้ำไม่เป็นมักจะตื่นกลัวแม้ว่าน้ำไม่ลึกนัก ยิ่งถ้าข้ามรวมเป็นกลุ่มเดียวกันแล้วก็จะมีปัญหาเพิ่มมากยิ่งขึ้น ในการข้ามลำห้วยหรือลำธารถ้าน้ำไม่ลึกมากนักเพื่อความปลอดภัยของตัวเรา ควรใช้เชือกขึงข้ามลำธารไว้พยุงตัวไม่ให้ลื่นล้ม เพื่อเป็นการป้องกันที่ดีอีกวิธีหนึ่ง
ในการเดินป่าย่อมจะมีจุดหมายปลายทางที่เรากำหนดไว้ว่าจะต้องไปให้ถึง แต่บางครั้งการเดินทางสู่จุดหมายอาจจะมีทางเลือกให้เดินหลายเส้นทาง แต่เราควรจะพิจารณา ถึงหลัก 3 ประการคือ ความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทาง และระยะทางซึ่งทั้ง 3 ประการนี้ เราจะต้องนำมาพิจารณาเข้าด้วยกัน เพื่อหาเส้นทางที่เหมาะสมในการเดินทาง แต่ทว่าในเส้นทางนั้นอาจมีอุปสรรค สิ่ง กีดขวาง หรือภูมิประเทศที่แตกต่างกันออกไป เราจึงมีข้อแนะนำถึงวิธีการเดินผ่านภูมิประเทศต่าง ๆ ดังนี้
การเดินทางตามสันเขา ... โดยทั่วไปแล้วเส้นทางเดินบนสันเขาจะเดินได้ง่ายกว่าการเดินตามหุบเขา ทางเดินของสัตว์มักจะผ่านไปบนสันเขาบ่อย ๆ และสัตว์ต่าง ๆ อาจจะใช้เส้นทางนี้ในการเดินก็ได้ นอกจากนี้บนสันเขามักจะมีต้นไม้หรือพันธุ์พืชต่าง ๆ ที่เป็นอุปสรรคกีดขวางการเดินขึ้นอยู่น้อยมาก แต่จะมีจุดสูง ๆ ที่เราสามารถขึ้นไปสังเกตภูมิประเทศเบื้องล่างได้อีกด้วย การเดินบนสันเขาจะช่วยให้เราประหยัดพลังงานได้เยอะทีเดียว เพราะเราไม่ต้องปีนขึ้นปีนลงหรือลุยข้ามลำน้ำ ลำห้วย ดังจะเห็นได้จากชาวเขาที่มักชอบเดินตามสันเขาและมักจะเลี่ยงที่สูงชันหรือหุบเหว แต่การเดินบนสันเขาก็จะมีปัญหาอยู่บ้างเหมือนกัน คือ บนสันเขามักมีหลายเส้นทางทับกันอยู่อย่างสับสน อาจจะทำให้หลงทางได้ง่าย ดังนั้นจึงควรต้องทำการตรวจสอบทิศทางกับเข็มทิสหรือด้วยวิธีอื่นอยุ่อย่างสม่ำเสมอ เพื่อจะได้ไม่เสียเวลาในการหลงทาง
การเดินทางตามลำห้วย ...ในบริเวณริมลำห้วยต่าง ๆ จะมีความชื้นสูง ทำให้มีพันธุ์ไม้รกทึบยากแก่การเดินทาง ดังนั้นการเดินทางจึงมีความลำบากและเป็นไปอย่างล่าช้า บางแห่งเป็นปลักโคลน ทำให้พืชที่เป็นเครือเถาขึ้นอยู่หนาแน่น รวมทั้งพืชที่ทำให้คัน เช่น หมามุ่ยชอบขึ้นอยู่ด้วย หากจะต้องเดินในลำน้ำควรจะต้องระวังความลื่นที่เกิดจากก้อนหินกับตะไคร่น้ำที่เกาะอยู่ หินทรายในน้ำมักจะลื่น แต่ถ้าเป็นหินอัคนีก็จะมีความลื่นมาก จึงไม่ควรเดินในลำน้ำที่มีหินอัคนีเป็นพื้น เพราะจะทำให้ลื่นได้ง่ายมาก ในบริเวณป่าห่างจากชุมชนไม่นานนัก ตามริมลำห้วยมักจะมีทางเดินของชาวบ้านที่มาหาปลาอยู่ด้วยเสมอ แต่จุดที่จะใช้ตรวจสอบกับแผนที่ได้ก็คือ หน้าผาริมน้ำหรือริมห้วยต่าง ๆ การเดินทางตามลำห้วย มีข้อดีตรงที่เราสามารถหาน้ำและอาหารเพื่อบริโภคได้ง่าย นอกจากนี้ยังต้องระวังงูซึ่งมักอยู่ใต้หลืบหินและขอนไม้ ต้นไม้ริมน้ำด้วย
การเดินทางตามชายฝั่งทะเล ...โดยปกติตามชายฝั่งทะเลมักจะมีความยาวและอ้อมโค้ง แต่นั่นก็เป็นแนวหลักที่ดีที่สุดในการหาทิศและยังหาอาหารได้ง่ายอีกด้วย ชายฝั่งทะเลที่เป็นหาดทรายหรือว่าชะง่อนหิน ก็จะมีความสะดวกในการเดินทางพอประมาณ แต่หากเป็น หาดเลนที่มีป่าเลนน้ำเค็มขึ้นอยู่ จะเป็นอุปสรรคที่กีดขวางการเดินทางเป็นอย่างยิ่ง ควรที่จะหาทางเดินอื่นหลีกเลี่ยงไป
การเดินทางในป่าทึบ ...การเดินทางในป่าทึบนั้นจะต้องใช้ความระมัดระวังมากที่สุด และนักเดินป่าที่ดีนั้นย่อมเป็นผู้ที่รู้จักใช้เสียงในเวลาที่จำเป็นเท่านั้น ในการเดินป่า เราจะต้องใช้ประสาทสัมผัสทั้งหมดไม่ว่าจะเป็น หู ตา จมูก และสัมผัสที่เราต้องใช้ให้น้อยที่สุดคือ เสียง ที่จะต้องใช้ในตอนหยุดพัก ในแต่ละชั่วโมงหรือเมื่อมีเหตุจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น ดังนั้นนักเดินป่าที่ดีจึงต้องฝึกตนเองให้มีความสามารถเดินผ่านป่ารกทึบอย่างเงียบ ๆ ได้อยู่เสมอ โดยจะค่อย ๆ แหวกต้นไม้ไป ซึ่งอาจจะมีโอกาสได้พบเห็นสัตว์ป่าได้อีกด้วย ต้องระวังอย่าให้กิ่งไม้ครูดเป็นแผลหรือถลอกฟกช้ำ และระวังอย่าเดินหลงทางจะทำให้เสียกำลังใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญที่ควรต้องจดจำเอาไว้ อย่า ใสใจกับต้นไม้ พุ่มไม้ที่อยู่ตรงหน้าเรามากนัก ให้ใช้สายตามองออกไปไกล ๆ อย่าสักแต่ว่ามองดูป่า จงมองให้ทะลุปรุโปร่ง ควรจะหยุดเดินบ้างเป็นครั้งคราว สำรวจดูตามพื้นดิน คอยเงี่ยหูฟังเสียงต่าง ๆ และสังเกตทิศทางเอาไว้ให้ดี ๆ ในพื้นที่ ๆ มีต้นไม้ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่น ควรใช้มีดตัดป่าตัดเป็นช่องพอที่จะเดินผ่านไปได้เท่านั้น การ ตัดไม้ด้วยมีดควรใช้มีดฟันเฉียงขึ้นหรือเฉียงลงอย่างรวดเร็ว จะทำให้เกิดเสียงเบากว่าการฟันอย่างช้า ๆ เพราะนอกจากจะเป็นการทำลายพันธุ์แล้วยังก่อให้เกิดเสียงดังได้ยินไปก้องป่า สัตว์ป่ามักจะใช้เส้นทางด่านสัตวืในการเดิน ทางด่านสัตว์นี้มักคดเคี้ยว วกวน แต่ก็จะนำเราไปสุ่แหล่งน้ำหรือที่โล่งได้ ถ้าเราจะเดินตามต้องตรวสอบให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นทิศทางเดียวกับที่เราต้องการไป โดยหมั่นตรวจสอบทิศทางอยู่เสมอเมื่อเดินไปตามทิศทางนั้นเมื่อจำเป็นที่จะต้องปีนต้นไม้เพื่อสังเกตการณ์หรือเก็บอาหารต้องลองตรวจสอบดูเสียก่อนว่ากิ่งไม้ที่จะปีนขึ้นไปนั้นมีความแข็งแรงพอที่จะรับน้ำหนักตัวของเราได้รึเปล่า และจะต้องยึดกิ่งที่ใหญ่ไว้ให้แน่นและมั่นคง ในขณะปีนพยายามเหยียบกิ่งให้ชิดกับลำต้น เพราะจะเป็นส่วนที่แข็งแรงมากที่สุด
การกินอยู่
แน่นอนอยู่แล้วว่าการใช้ชีวิตอยู่ในป่าและในเมืองก็ตาม ร่างกายของคนเราก็ต้องมีความต้องการอาหารและน้ำเป็นธรรมดา แต่เมื่อเราอยู่ในป่า อาหารและน้ำคงจะหาไม่ได้ง่าย ๆ เหมือนกับเราอยู่ในเมือง ดังนั้นการแสวงหาอาหารในป่า จึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ละเอียดเพราะหากว่าเราไม่มีความรู้จริง การนำพืชบางชนิดมาเป็นอาหาร จะก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายจากอาหารเป็นพิษได้ เราจึงแนะนำวิธีการแสวงหาอาหารในป่าโดยใช้น้ำและพืชที่จะนำมาเป็นอาหาร เพื่อที่จะสามารถใช้ชีวิตอยู่ในป่าได้อย่างไม่อดอาหาร
ร่างกายของคนเรามีความต้องการน้ำวันละ 2-5 ลิตร แต่ไม่ใช่ว่าน้ำทุกชนิดจะปลอดภัยสำหรับดื่ม การแสวงหาน้ำในฤดูฝนไม่มีความลำบากมากนัก เพราะน้ำฝนมักจะมีขังอยู่ทั่ว ๆ ไป ตามลำธารและแอ่งน้ำ และถึงแม้ว่าตามลำธารจะไม่มีน้ำขังอยู่ แต่เราจะสามารถขุดบ่อลงไปในบริเวณพื้นที่ที่มีน้ำและในลำห้วยตามท้องธาร หรือหุบเขาก็จะได้น้ำกินและน้ำใช้ตามที่ต้องการ แต่สำหรับฤดูแล้งการแสวงหาน้ำ อาจจะมีความยากลำบากและยุ่งยากมากพอสมควร แต่เราก็ยังพอมีวิธีในการแสวงหาน้ำอยู่
การหาแหล่งน้ำ
1. สอบถามชาวบ้านถึงแหล่งน้ำ เพื่อเป็นการสะดวกควรให้ชาวบ้านที่รู้ว่ามีแหล่งน้ำที่ใดนำทางหรือชี้บอกทางให้
2. หาตามหุบเขา,ซอกหิน หน้าแล้งจะสังเกตเห็นว่าต้นไม้ ต้นหญ้าบนภูเขาเปลี่ยนเป็นสีเหลืองและแห้งกรอบ ให้เราสังเกตที่หุบเขา ถ้าพบว่าหุบเขาใดมีต้นไม้เขียวชอุ่มตลอดปี ก็ให้เราไปหาน้ำตามหุบเขานั้น ซึ่งจะมีน้ำไหลซึมออกจากซอกหินตลอดปี
3. ขุดเลาะลำธารที่น้ำแห้งใหม่ ๆ ทำเป็นบ่อเล็ก ๆ ลึกลงไป ก็จะพบเจอน้ำตามที่เราต้องการ
4. หาจากเถาวัลย์ ผลไม้ ต้นไม้ เถาวัลย์น้ำจะขึ้นอยู่ตามพื้นที่แห้งแล้งเป็นส่วนมาก เช่น สะแกเถาว์,เถานางนูน,หวาย และต้นไม้ต่าง ๆ เช่น ต้นพลวง ,ต้นกล้วยป่า,รวมทั้งน้ำจากผลไม้และ ต้นไผ่ก็ใช้ดื่มได้ทั้งนั้น
5. ใช้อุปกรณ์ที่นำติดตัวไปทำเครื่องกักไอน้ำ เช่น เสื้อกันฝนหรือพลาสติคก็ได้ โดยเมื่อเข้าไปในพื้นที่ที่แห้งแล้งและเป็นพื้นที่โล่งแจ้งปราศจากต้นไม้ ให้ขุดหลุมกว้าง 3 ฟุต ลึกประมาณ 18 นิ้ว เอาก้อนหินใส่ลงไปก้นหลุม หาภาชนะรองน้ำไว้ตรงกลางหลุม เอาพลาสติคคลุมปากหลุมแล้วเอาดินกลบไว้รอบ ๆ ตรงกลางเอาก้อนหินวางไว้เพื่อถ่วงให้เป็นรูปกรวย เมื่อความร้อนจากดวงอาทิตย์ เผาก้อนหินและดินในหลุม ความชื้นที่มีอยู่จะระเหยเป็นไอขึ้นมากระทบกับพลาสติกมากเข้าก็จะกลายเป็นหยดน้ำไหลไปยังภาชนะที่เราเตรียมไว้รองรับเพื่อนำน้ำขึ้นมาใช้บริโภคต่อไป
1.การแต่งกาย
2.การเตรียมร่างกาย
3.การเตรียมอุปกรณ์
4.หลักการตั้งแคมป์พักแรม
1. การแต่งกาย
นักท่องเที่ยวมือใหม่ที่ยังไม่เคยเที่ยวแบบนี้อาจจะสงสัยว่าจะแต่งกายอย่างไรดีอุปกรณ์ต่างๆ แพง จึงถ่ายภาพสมาชิกมาให้ชมกัน
รองเท้า ใช้รองเท้ากีฬาแบบหุ้มส้นธรรมดาก็ได้ แต่ถ้าจะใช้รองเท้าหุ้มข้อก็จะดี รองเท้าหุ้มข้ออย่างที่นางแบบใส่เป็นรองเท้า
กางเกงควรใส่กางเกงแบบขากว้าง หลวม และมีกระเป๋าข้างเพื่อใช้ใส่ขวดน้ำ
เสื้อ แนะนำให้ใช้เสื้อแขนยาว เพื่อป้องกันแมลง และป้องกันกิ่งไม้ใบหญ้าที่จะมาสัมผัสกับผิวหนัง จะเลือกเสื้อแขนเชิตมีกระเป๋า หรือแบบเสื้อยืดก็ได้ แล้วแต่ชอบ
เป้ เป็นสิ่งจำเป็นเพราะต้องใส่สัมภาระเสื้อผ้า ของใช้ เครื่องสำอาง ควรเลือกขนาดกระทัดรัดที่บรรจุของใช้ส่วนตัวได้หมด ( ของส่วนกลางทางผู้จัดทัวร์ใช้ลูกหาบแบก ) เป้มีหลายแบบ หลายระดับคุณภาพ
หมวก เป็นสิ่งจำเป็น หมวกแบบมีปีกหน้าหรือมีปีกรอบด้านก็ได้
ใส่เสื้อเชิตแขนยาว ป้องกันใบหญ้าขีดข่วนได้ดี
ใส่เสื้อยืดข้างใน เวลาร้อนก็ถอดเสื้อแขนยาวออกได้ ตอนเดินลุยก็ใส่
กางเกงกระเป๋าข้าง ใช้ใส่ขวดน้ำอย่างในภาพ กางเกงมีหลายยี่ห้อให้เลือก
2. การเตรียมร่างกาย
สถานที่ท่องเที่ยวที่สวยงาม บางคนเห็นภาพความงดงามจากนิตยสาร หรือจากสื่อต่างๆ ก็อยากจะไปเห็น อยากจะไปสัมผัสกับความงดงามเหล่านั้น แต่ความงามที่ว่านั้นใช่ว่าจะไปชมกันง่ายๆ เพราะสถานที่ที่สวยงามและยังคงเป็นธรรมชาติมักจะเป็นสถานที่ซึ่งการเดินทางเข้าไปลำบาก นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่เข้าไปไม่ถึงเพราะมีปราการทางธรรมชาติขวางกั้น หากเราอยากจะเป็นคนหนึ่งผู้ซึ่งไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคนั้นก็จะสามารถไปสัมผัสกับความงดงามนั้นๆ ได้
การเตรียมตัวก่อนขึ้นดอยไปแค้มป์ ไม่มีข้อกำหนดตายตัว บางคนนิยมวิ่งออกกำลังกาย บางคนว่ายน้ำ บางคนตีแบดมินตัน เมื่อถามถึงความแข็งแรงของร่างกายของแต่ละคน ทุกคนจะมั่นใจว่าตัวเองแข็งแรง ตัวเองอึด ยังไม่เคยเห็นใครที่จะบอกว่าขาตัวเองไม่ค่อยแข็งแรงหรือตัวเองแรงไม่ดี ดังนั้นแต่ละคนที่จะไปขึ้นดอยจึงมักจะพกความมั่นใจไปเกินร้อย แต่ว่าใจเกินร้อยไม่ได้ช่วยอะไรได้เลย ต้องความแข็งแรงของขาเต็มร้อยถึงจะไปได้ ที่คิดว่าตัวเองอึดเมื่อถึงเวลาไปอยู่บนดอยกันจริงๆ ก็ออกอาการไปไม่ไหว ดังนั้นคนที่จะไปแค้มป์กับเราท่านจะแข็งแกร่งสักเพียงใดเราไม่เชื่อ หากท่านยังไม่เคยเดินเขา หรือไม่ได้เดินเขามาเป็นเวลานาน ท่านทั้งหลายก็จะต้องปฏิบัติตามหลักสูตรของเรา ถ้าท่านผ่านมาตรฐานที่กำหนดก็จะทำให้ท่านเดินเที่ยวบนภูเขาได้อย่างมีความสุขและเพลิดเพลินกับความสวยงาม แต่ถ้าทำไม่ได้ก็ไม่ควรไป หากท่านยังขืนไปก็อาจจะไม่สนุกเพราะท่านจะปวดขา จะพาเดินไปไหนก็ไม่อยากจะไป แทนที่ผมจะพาไปเที่ยวให้สนุกและประทับใจกับธรรมชาติ กับกลายเป็นว่าพาท่านไปทรมานร่างกาย แต่ถ้าท่านทำตามที่เราแนะนำแล้วไม่ต้องกังวลว่าจะไปไม่ได้ หากท่านไปไหวๆ จริงๆ เราก็ช่วยดูแลท่านให้ผ่านไปได้อย่างปลอดภัย แต่ท่านควรช่วยตัวท่านเองก่อนโดยเตรียมให้พร้อม จงช่วยตัวเองก่อน ก่อนที่จะให้พระเจ้าช่วยท่าน ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน พึ่งตนไม่ไหวเพื่อนจะคอยช่วย
หลักสูตรการเตรียมร่างกายของเราคือ ขอให้ท่านลุกนั่งอย่างต่อเนื่องได้ X ครั้งโดยไม่หยุดและไม่รู้สึกปวดขา นั่นล่ะ คุณจะขึ้นดอยได้อย่างสบายๆ วิธีปฏิบัติ ให้ทำตามนี้
1. ยืนตัวตรง ยื่นแขนเหยียดตรงทั้งสองข้างไปข้างหน้า
2. เขย่งปลายเท้า หรือยืนโดยใช้ปลายเท้า ยกส้นสูงขึ้นเล็กน้อยให้ปลายเท้ารับน้ำหนักทั้งหมด
3. ย่อตัวนั่งลงจนก้นเกือบสัมผัสส้นเท้า แล้วยกตัวขึ้นยืนตรง โดยยังเขย่งปลายเท้าอยู่ตลอดเวลา นั่ง-ลุก นั่ง-ลุก ทำไปเรื่อยๆ ทำสักเดี๋ยวท่านจะรู้สึกร้อนจี๊ดๆ บริเวณกล้ามเนื้อต้นขาเหนือหัวเข่า อย่าเพิ่งหยุด อย่าเพิ่งยอมแพ้กับอีแค่น้ำหนักของตัวเราเอง นี่ยังไม่ได้แบกเป้นะ ยังรู้สึกร้อนต้นขาซะแล้ว ทำต่อไปเรื่อยๆ ทำจนกว่าท่านจะรู้สึกว่าไม่ไหวแล้ว จนต้องหยุด ก็คงจะได้สักประมาณ 20-30 ครั้ง จำไว้ว่าทำได้กี่ครั้ง ก่อนนอนให้ใช้ยานวดกล้ามเนื้อ เช่น เคาเตอร์เพน ทานวดขา แน่นอนว่าวันรุ่งขึ้นท่านจะต้องปวดขา ดีครับให้มันปวด เมื่อมันปวด เราก็ทานวดยาซะ
4. ให้เพิ่มจำนวนครั้งอีกประมาณ 50% เช่นเริ่มจาก 30 แล้วเพิ่มเป็น 50 -> 80 -> 100 ->150 ไปหยุดสุดท้ายที่ 150 ครั้งอย่างต่อเนื่องโดยไม่รู้สึกปวดขา นี่ล่ะ ท่านจะเดินเที่ยวดอยทั่วไทยสบายๆ เวป tourdoi ขอรับประกัน แต่ว่า...
5. ถ้าท่านจะต้องไปเที่ยวแบบที่ต้องแบกสัมภาระด้วยตนเองล่ะก็ หลังจากท่านทำได้ต่อเนื่อง 150 ครั้งโดยไม่ปวดขาแล้ว หลังจากนั้นให้ท่านเอาเป้สัมภาระใส่น้ำดื่มขวดขาวใส่ไว้ในเป้สัก 3 แพค ( แพคละ 6 ขวด ) เมื่อใส่หลังแล้วก็ลุกนั่งต่อไป ทำได้สัก 20-30 ครั้ง ทำต่อไม่ได้ก็หยุด แล้วเพิ่มจำนวนขึ้นไปเรื่อยๆ เมื่อท่านทำได้ตามมาตรฐานที่เราบอก ท่านก็จะมีขาที่แข็งแรงเดินขึ้นดอยสูงได้สบายมาก แต่ว่า... อย่าเที่ยวไปเดินเขาแข่งกันล่ะ ไปเที่ยวคือการเดินไป ชมไป ข้างทางมีสิ่งที่สวยงามมากมาย เดินไปหยุดไปชมไป หากมีบางคนที่ไม่ไหวก็ช่วยๆ กันเช่นแบ่งสัมภาระไปบางส่วน ช่วยๆ กัน มีน้ำใจให้กัน ไม่ใช่จะเอาแต่ตั้งหน้าตั้งตาเดินเพื่อให้ไปถึงก่อนเขา ยิ่งไปถึงก่อนคนอื่นได้ยิ่งเร็วเท่าไรก็ยิ่งเก่ง แบบนี้ไม่ดี ไม่ควรไปอวดประชันความแข็งแรงของร่างกายโดยการตั้งหน้าตั้งตาเดินเพื่อให้รู้ว่าข้านี่เจ๋งที่สุด หากท่านเดินแข่งกับคนอื่น คนอื่นกลัวเสียฟอร์มก็คงไม่ยอมกัน ท้ายที่สุดก็จะคล้ายๆ กับทริปวิ่งแข่งกัน คนอยู่ท้ายสุดก็รู้สึกว่าตัวเองอ่อนหัด ความแข็งแรงที่ว่านั้นควรนำไปใช้พาตัวเองไปเที่ยวได้อย่างเพลิดเพลินไม่ปวดขาและเหลือความแข็งแรงช่วยเหลือเพื่อนๆ ที่ไม่แข็งแรงเท่ากับเรา
การลุกนั่งแบบข้างบนนั้นมีปัญหาตรงที่ว่า สาวๆ ขาสวยเรียวหลายท่านไม่ยอมลุกนั่งตามที่บอกด้วยเหตุผลที่ว่ากลัวน่องโป่งบ้างล่ะ กลัวขาจะอ้วนเหมือนขาโต๊ะสนุกบ้างล่ะ ด้วยเหตุผลดังกล่าวจึงไม่ยอมทำตามคำแนะนำ บางท่านก็บอกว่าการออกกำลังขาแบบนั้นทำให้หัวเข่าเสีย อ้าวแล้วตอนเดินขึ้นเขาหรือขึ้นบรรไดก็เหมือนการลุกนั่งนี่นาแล้วยังงี้หัวเข่าไม่เสียเหรอ ถ้างั้นเอางี้ดีกว่า ผมได้คิดวิธีการสร้างกล้ามเนื้อขาวิธีใหม่ไม่กระทบต่อหัวเข่า ได้ผลดี น่องไม่โป่งด้วย วิธีง่ายมากครับ ดูภาพประกอบแล้วจะร้อง อ๋อ ถ้ายังไม่ร้องอ๋อ ให้อ่านวิธีการไปทีละขั้นอย่างเข้าใจ คราวนี้เข้าใจถึงบางอ้อแน่ครับ
3. การเตรียมอุปกรณ์
การเตรียมสัมภาระ สำหรับคณะนักท่องเที่ยว 4 คน ระยะเวลา 3 วัน 2 คืน ในกรณีไปเที่ยวกันเอง
ของใช้ส่วนตัว
1. ชุดเดินป่า - เสื้อกางเกงตัวโปรดใส่เดินทาง 1 ชุดสำหรับผู้ชาย, เพิ่มเสื้ออีก 1 ตัวสำหรับผู้หญิง เอาไปมากก็ไม่ได้ใช้หนักเปล่าๆ
2. ชุดกันฝน - เที่ยวป่าให้สวยต้องหน้าฝน ใครเห็นด้วยกับคำนี้ก็ต้องเตรียมชุดกันฝนไปด้วยเผื่อเจอฝนระหว่างการเดินทาง
3. รองเท้าเดินป่า - ควรเป็นรองเท้าหุ้มข้อเพราะช่วยป้องกันปัญหาข้อเท้าพลิกได้
4. รองเท้าแตะ - เลือกอย่างเบา ใช้สำหรับทำธุระต่างๆ ขณะตั้งแคมป์
5. กระติกน้ำ หรือขวดน้ำดื่ม
6. หมวกกันแดด
7. เสื้อกันหนาว 1 ตัว
8. ถุงนอน
9. เป้หลัง ขนาดถูกใจ
10. ชุดชั้นใน - วันละ 1 ชุดสำหรับท่านชาย, ไม่จำกัดสำหรับท่านหญิง แล้วอย่าลืมสิ่งสำคัญส่วนตัวด้วยเพราะบนภูเขาไม่มีอะไรขาย
11. ถุงเท้า - วันละ 1 คู่
12. ถุงมือกันหนาวและไอ้โม่ง น่าจะเอาไปด้วยเป็นอย่างยิ่งถ้าเป็นฤดูหนาว
13. ช้อน 1 อัน, แปรงสีฟัน 1 อัน , กระดาษทิชชู่ 1 ม้วน
14. ถุงพลาสติก หรือ ถุงกร๊อปแกร๊ป เอาไปเยอะไม่หนักแต่มีประโยชน์
15. อุปกรณ์ถ่ายภาพ ตามสะดวก
16. ไฟฉายขนาดเล็ก พร้อมถ่าน และหลอดไฟสำรอง
ของส่วนกลาง
1. เต๊นท์ขนาด 4 คน 1 หลัง หรือขนาด 2 คน 2 หลัง
2. ผ้าพลาสติกปูพื้น 1 ผืน สำหรับปูนั่งทำภาระกิจต่างๆ นอกเต๊นท์
3. มีดเล็กสำหรับทำอาหาร 1 อัน ก็ใช้หั่นพริก หัวหอม มะนาว
4. มีดเดินป่า 1 อัน
5. เตาแก๊สแคมปิ้ง 1 อัน สะดวกสบายไม่ทำลายธรรมชาติ
6. แก๊สกระป๋อง 2 กระป๋องซึ่งเพียงพอสำหรับการปรุงอาหารปกติและชงกาแฟ หรือ 3 กระป๋องในกรณีพิเศษเช่นต้มถั่วเขียว
7. ตะเกียงแก๊ส 1 อัน แต่ไม่จำเป็น ถ้ามีแล้วก็เอาไปถ้าไม่มีก็ไม่ต้องซื้อให้เปลืองเงิน อย่าลืมเอาแก๊สไปเผื่อด้วย
8. เทียนแท่งใหญ่ 2 อัน ขนาด 2 นิ้วสูง 3 นิ้ว ( ในกรณีไม่มีตะเกียงแก๊ส ) เอาไฟแชคไปด้วย 2 อันเผื่อหาย 1 อัน
9. ข้าวหอมมะลิ .... กก. ต้องเป็นข้าวหอมมะลิเพราะใช้น้ำน้อย
10. อาหาร
12. น้ำดื่ม กรณีไปพักแรมที่ขาดแคลนน้ำ
13. ยานวดแก้ปวดขา ๑ หลอด, พลาสเตอร์ปิดแผล ยาแดง ยาแก้ปวดท้อง ฯลฯ
4. หลักการตั้งแคมป์พักแรม
1. ควรกางเต็นท์บนที่ราบเรียบปราศจากของแหลมคม เช่น ตอไม้ที่ตัดไว้ไม่หมด หรือก้อนหินที่มีแง่มีมุม เพราะนอกจากจะนอนไม่เป็นสุขเพราะมีอะไรมาตุงที่แผ่นหลังแล้ว ของแหลมเหล่านั้นอาจจะทำให้พื้นเต็นท์เสียหายเกิดการฉีกขาดได้ หากเราทำเต็นท์ดังกล่าวไปกางในฤดูฝนอาจจะรั่วจนน้ำเข้าจากพื้นล่างได้
2. ไม่ควรกางเต็นท์บนดอยสูงที่โล่งเตียน ( เช่น บนยอดเชียงดาว, ยอดดอยลังกาหลวง, สันดอยม่อนจอง ) เพราะบนดอยสูงเป็นที่โล่งมีแนวประทะของลม หากเกิดลมกรรโชกแรงหรือเกิดลมพายุ แรงลมจะพัดเต็นท์ให้กระเด็นตกดอยได้ หากจำเป็นต้องกางเต็นท์บนจุดดังกล่าวให้ยึดสายรั้งเต็นท์ด้วยสมอบกที่มั่นคงกว่า สมออย่างที่ใช้ๆ กันอยู่ หรืออาจจะทำให้เต็นท์หนักด้วยการที่คนเข้าไปนอนหรือใช้ก้อนหินใหญ่ๆ ใส่ไว้ในเต็นท์เพื่อทำให้เต็นท์มีน้ำหนัก ตามลำพังน้ำหนักเป้ที่ใส่ไว้ในเต็นท์กับสมอบกที่ยึดเต็นท์ไว้ไม่เพียงพอที่จะทำให้เต็นท์มั่นคงเมื่อโดนแรงลม ไม่ใช่มัวแต่ไปถ่ายรูปพอวิ่งกลับมาเต็นท์ลอยหายไปแล้ว ปัญหานี้เคยเกิดขึ้นแล้วกับนักเดินทางรุ่นก่อน ถึงแม้จะมองว่าเป็นเรื่องตลกไม่น่าเป็นไปได้แต่มันเป็นไปได้จริงๆ
3. ถ้าต้องการกางเต็นท์ในป่าโปร่งอย่างเช่น ภูสอยดาว หรือ ทุ่งแสลงหลวง ไม่ควรกางเต็นท์ใต้ต้นไม้เพราะเมื่อเกิดพายุในยามค่ำคืนที่เรานอนหลับสบาย อาจมีกิ่งไม้หักหล่นทับเต็นท์เราได้ ควรจะเปลี่ยนตำแหน่งไปกางเต็นท์นอกแนวของต้นไม้
แต่ถ้ากางเต็นท์ใต้ต้นไม้ในป่าทึบ อันนี้กางได้ไม่มีปัญหาแต่ประการใด เพราะต้นไม้ในป่าทึบที่มีต้นไม้ขึ้นหนาแน่น ต้นไม้เหล่านั้นจะไม่ล้มลงมาง่ายดายเพราะมีป่าเป็นแนวป้องกันแรงประทะของลมและยังมีเถาวัลย์โยงใยยึดเกี่ยวกันไปมาซึ่งนี่เป็นความมั่นคงที่ธรรมขาติได้สร้างขึ้น
4. อย่ากางเต็นท์ริมลำธารในช่วงฤดูฝนหรือใกล้ฤดูฝน ลำธารในป่าใหญ่อาจจะมีพื้นหาดทรายที่ราบเรียบเหมาะแก่การตั้งแคมป์พักแรมเป็นอย่างยิ่ง แต่ใครจะรู้ว่าคืนนี้จะมีน้ำป่ามาเยือนหรือเปล่า หากมีฝนตกหนักน้ำจะไหลแรงมาก แล้วถ้าหากมีน้ำป่าไหลลงมา แรงน้ำนั้นจะพัดพาทั้งคนและเต็นท์ไปกับสายน้ำ
5. อย่ากางเต็นท์ในจุดที่เป็นแอ่งกะทะในช่วงที่อาจมีฝนตก เพราะที่ราบที่เราเห็นถึงแม้จะไม่มีน้ำขังแต่ถ้าหากมีฝนตกในวันนั้นหรือค่ำคืนนั้น น้ำฝนจะไหลมารวมกันยังพื้นที่ๆ ต่ำกว่า และอาจจะท่วมขังสูงเกินกว่าที่เต็นท์จะป้องกันไว้ได้ ทางที่ดีที่สุดควรเลือกจุดที่เป็นเนินดินที่สูงกว่าบริเวณจุดกางเต็นท์ บนภูกระดึงถึงแม้เราจะมองดูว่าราบเรียบ แต่จริงๆ แล้วมีบางพื้นที่ๆ เป็นที่ราบลุ่ม เห็นแห้งๆ อย่างนั้นแต่เมื่อมีฝนตกมีจะน้ำไหลมารวมกันเหมือนกับเรากางเต็นท์อยู่ในแหล่งน้ำ ถึงแม้จะไม่ท่วมแต่มันก็เฉอะแฉะน่ารำคาญ หากเป็นพื้นที่ๆ เป็นเนิน น้ำจะไหลผ่านไป พอฝนหยุดตกแดดออกไม่นานพื้นก็แห้ง แต่ที่ลุ่มจะท่วมขังอยู่อย่างนั้นเป็นวันๆ
6. อย่ากางเต็นท์ในพื้นที่เนินที่เป็นแนวน้ำไหล อันนี้ต้องพิจารณาด้วยตาตนเองว่าแบบไหนเป็นแนวน้ำไหล ภูเขาย่อมไม่ราบเรียบ ทุกที่ทุกแห่งมีลักษณะเป็นเนิน เนินทุกเนินจะรับน้ำเมื่อมีฝนตก น้ำนั้นจะไหลมารวมกันไหลลงสู่ทางที่ลาดลง หากเราเห็นราบๆ ลาดชันนิดๆ พอนอนได้ หากมีฝนตกหนักอาจจะมีปริมาณน้ำจำนวนมากที่ไหลมารวมกันไหลผ่านเต็นท์ อาจจะทำให้เกิดความเสียหายได้
7. ไม่กางเต็นท์ขวางทางเดินสัตว์ เราอาจเห็นพื้นที่ราบๆ เป็นร่องทางเดินที่ไม่มีใครเดินมาแล้วเพราะมันมืดแล้ว แต่จริงๆ แล้วอาจจะเป็นเส้นทางที่สัตว์ใช้เดิน สัตว์จะเดินออกหากินในตอนกลางคืนเต็นท์ของท่านอาจจะถูกทำลายได้